การประเมินการใช้ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตตินในผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลราชบุรี

ชื่อวิทยานิพนธ์ : การประเมินการใช้ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตตินในผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลราชบุรี
ชื่อนักศึกษา : พัทรียา โภคะกุล
สถาบัน : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญา : มหาบัณฑิต
หลักสูตร : เภสัชศาสตร์
สาขา : เภสัชกรรมคลินิก
ปี : 2544
ISBN : 974-17-0000-8
สืบค้นข้อมูลต้นสังกัด : http://library.car.chula.ac.th
บทคัดย่อ : การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา เก็บข้อมูลในขณะผู้ป่วยได้รับการสั่งใช้ยามีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินการใช้ยากลุ่มสแตตินในผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลราชบุรีทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ทำการศึกษาตั้งแต่ 1 กันยายน - 31 ธันวาคม 2544 โดยใช้เกณฑ์ที่สร้างขึ้นและได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการประเมินการใช้ยาโรงพยาบาลราชบุรี เกณฑ์การประเมินประกอบด้วย 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ (1) ข้อบ่งใช้ (2) ข้อห้ามใช้(3) การติดตามการใช้ยา และ (4) ขนาดและวิธีการบริหารยา นอกจากนี้ยังศึกษาอาการไม่พึงประสงค์และอันตรกิริยาของยาสแตตินกับยาอื่นที่สั่งใช้ร่วมกัน และดำเนินการแก้ไขเมื่อพบการสั่งใช้ยาไม่ตรงตามเกณฑ์และ/หรือเมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์ หรือมีการสั่งใช้ยาที่อาจเกิดอันตรกิริยา ผู้ป่วยที่ศึกษามี 247 ราย เป็นเพศชายร้อยละ 58.30 เพศหญิงร้อยละ 41.70อายุเฉลี่ย 53.02 (+,ฑ)11.34 ปี ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจที่พบมากคือ อายุและความดันโลหิตสูง (ร้อยละ 68.02 และ 46.15 ตามลำดับ) ผู้ป่วยส่วนใหญ่(ร้อยละ 70.44) ใช้สิทธิการรักษาโดยเบิกต้นสังกัด มีการใช้ยาสแตตินเพื่อการป้องกันแบบทุติยภูมิ (ร้อยละ 55.99) มากกว่าแบบปฐมภูมิ (ร้อยละ 44.01) ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีการใช้ยาสแตตินมากที่สุด รองลงมาคือโรคหลอดเลือดหัวใจ (ร้อยละ 50.94 และ 25.16ตามลำดับ) มีการสั่งใช้ยาซิมวาสแตตินมากกว่ายาอะทอร์วาสแตติน (ร้อยละ 82.59 และ17.41 ตามลำดับ) การประเมินการสั่งใช้ยาพบว่าตรงตามเกณฑ์ทั้งหมดในผู้ป่วย 34 ราย (ร้อยละ 13.77)มีมูลค่าการใช้ยา 16,798 บาท มีการใช้ยาไม่ตรงตามเกณฑ์อย่างน้อย 1 หัวข้อในผู้ป่วย196 ราย (ร้อยละ 79.35) มีมูลค่า 85,080 บาท และไม่สามารถสรุปได้ 17 ราย(ร้อยละ 6.88) มีมูลค่า 11,830 บาท การใช้ยาไม่ตรงตามเกณฑ์ ข้อบ่งใช้ที่พบมากที่สุดคือ ไม่ได้ควบคุมอาหารก่อนเริ่มให้ยาเพื่อการป้องกันแบบปฐมภูมิ ร้อยละ 63.64 พบการสั่งใช้ยาในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับซึ่งเป็นข้อห้ามใช้ของยากลุ่มสแตติน 7 ราย การติดตามการใช้ยาส่วนใหญ่ที่ไม่ตรงตรงเกณฑ์คือ ไม่มีการเจาะวัดระดับไขมันหลังเริ่มรักษาด้วยยา 4-8 สัปดาห์ ร้อยละ 57.09 รองลงมา คือ ไม่มีการแนะนำให้ผู้ป่วยควบคุมอาหารควบคู่กับการรักษาด้วยยา ร้อยละ 13.36 ไม่มีการสั่งรับประทานยาซิมวาสแตตินในตอนเย็นหรือก่อนนอนร้อยละ 63.73 ผู้ป่วยได้รับการสั่งใช้ยาที่อาจเกิดอันตรกิริยากับยากลุ่มสแตตินร้อยละ 5.26 พบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาร้อยละ 4.17 แพทย์มีการเปลี่ยนแปลงการสั่งจ่ายยาตามคำแนะนำของเภสัชกรร้อยละ 66.86 ไม่เปลี่ยนแปลงร้อยละ 33.14 จากผลการศึกษาจะเห็นว่ามีการใช้ยาไม่ตรงตามเกณฑ์ค่อนข้างมาก จึงควรมีการประเมินการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น