ชื่อโครงการ : กระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นที่เอื้อต่อการพัฒนาการเลี้ยงโคนม : กรณีศึกษาจังหวัดราชบุรี
ชื่อนักวิจัย : รศ.ดร. บุญเรียง ขจรศิลป์
E-mail Address :
ระยะเวลาโครงการ : มีนาคม 2540 – ตุลาคม 2544
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและประเมินกระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นที่เอื้อต่อการเลี้ยงโคนม โดยเน้นในเรื่องความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ชุมชน และองค์กรท้องถิ่นที่ เกี่ยวข้องในการจัดการเรียนการสอนที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง
ครูใช้การสอนแบบบูรณาการโดยให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางเพื่อให้นักเรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองและมีประสบการณ์การเรียนรู้แบบร่วมมือ มีการประเมินผลโดยใช้แฟ้มสะสมงานซึ่งมีเกณฑ์การประเมินอย่างชัดเจน โดยคาดว่านักเรียนจะมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพการเลี้ยงโคนมเพิ่มมากขึ้นผู้ร่วมในโครงการครั้งนี้ประกอบนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในปีกี่ศึกษา 2540 และ 2541 โรงเรียนชุมชนวัดหนองโพและโรงเรียนวัดดอนกระเบื้อง ครูผู้สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จากทั้งสองโรงเรียน ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ บุคลากรในชุมชน และผู้แทนองค์กรท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการเรียนการสอน การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบประเมินชิ้นงาน แบบวัดเจตคติ แบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์ผลการวิจัยพบว่า 1) กระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นโดยความร่วมมือของโรงเรียนและชุมชนนั้นประกอบด้วย 10 ขั้นตอน คือ 1.1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ความต้องการของบุคลากรและนักเรียนในโรงเรียน และคนในชุมชน ในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเรื่อง “ การเลี้ยงโคนม “ 1.2) พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเรื่อง “ การเลี้ยงโคนม ” โดยได้รับความร่วมมือจากผู้รู้ในชุมชน บุคลากรในโรงเรียน ผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงโคนมจากกรมปศุสัตว์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 1.3) จัดเตรียมบุคลากรโดยจัดประขุมเชิงปฏิบัติการและพาบุคลากรที่เกี่ยวข้องไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่ใช้นักเรียนเป็นศูนย์กลางในรูปแบบต่างๆ และการประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงาน 1.4) ประชุมผู้ปกครองนักเรียนเพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการ และวิธีการจัดการเรียนการสอนรวมทั้งขอความร่วมมือจากผู้ปกครองในการจัดการเรียนการสอน 1.5) นำหลักสูตรท้องถิ่นเรื่อง “ การเลี้ยงโคนม 1 “ และ “ การเลี้ยงโคนม 2 “ ไปทดลองใช้ 1.6) ประเมินผลการนำหลักสูตรไปใช้ในระยะแรก 1.7) จัดประชุมติดตามผลการใช้หลักสูตรท้องถิ่นเรื่อง “ การเลี้ยงโคนม 1 “ และ “ การเลี้ยงโคนม 2 “ หลังจากจบการเรียนการสอนในภาคต้นและภาคปลาย โดยเชิญคนในชุมชน บุคลากรโรงเรียน และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปรับปรุง 1.8) นำหลักสูตรท้องถิ่นเรื่อง” การเลี้ยงโคนม 1 “ และ “ การเลี้ยงโคนม 2 “ ที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ และนำไปใช้ 1.9) ประเมินผลการใช้หลักสูตรที่มีต่อนักเรียน ครู ผู้บริการ และคนในชุมชน และ 1.10) บุคลากรในโรงเรียนและคนในชุมชนปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรและดำเนินการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง 2) กระบวนการพัฒนาท้องถิ่นเรื่อง “ การเลี้ยงโคนม “ ที่คณะผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมานั้นมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเมื่อนำหลักสูตรไปใช้แล้วพบว่า 2.1) คณะครูผู้เข้าร่วมโครงการเริ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนจากการให้ครูเป็นศูนย์กลางมาเป็นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น 2.2) ชุมชนและองค์กรท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน 2.3) การประเมินผลโดยใช้แฟ้มสะสมงานช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นที่จะปรับปรุงผลงานของตนเองให้ดีขึ้น 2.4) นักเรียนมีความสามารถในการทำงานเป็นทีมมากขึ้น 2.5) นักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมมากขึ้น 2.6) นักเรียนมีความรับผิดชอบ มีความคิดริเริ่มสร้างสรร การกล้าแสดงออก การมีนิสัยรักการทำงาน มีทักษะการแสวงหาความรู้และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองการทำงานเป็นกลุ่ม การสื่อสารอยู่ในระดับดี 2.7) นักเรียนมีความสุขในการเรียนหลักสูตรท้องถิ่นเรื่องการเลี้ยงโคนม และมีเจตคติต่ออาชีพการเลี้ยงโคนมดีขึ้นกว่าก่อนเรียน 2.8) ครูผู้สอน ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ บุคลากรในชุมชนมีความคิดเห็นว่า การนำหลักสูตรท้องถิ่นเรื่องการเลี้ยงโคนมมาใช้ในโรงเรียนมีผลดีและเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน ครู ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ และชุมชนมากกว่าผลเสียซึ่งควรจะดำเนินการต่อไปและควรจะมีการขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ โดยการนำกระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น วิธีการจัดการเรียนการสอน และการประเมินผลไปรับใช้ ซึ่งเนื้อหาของหลักสูตรนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ ความต้องการและศักยภาพในการจัดทำหลักสูตรของแต่ละท้องถิ่น
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม http://www.trf.or.th/research/project_detail.asp?PROJECTID=RDG4020015
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น