การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการหอพักนักศึกษาสตรีสถาบันราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี

ชื่อวิทยานิพนธ์ : การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการหอพักนักศึกษาสตรีสถาบันราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี
ชื่อนักศึกษา : กรวินท์ วงศ์เนตรสว่าง
สถาบัน : มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ปริญญา : มหาบัณฑิต
หลักสูตร : เศรษฐศาสตร์
สาขา : เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ
ปี : 2543
ISBN : 974-677-173-6
สืบค้นข้อมูลต้นสังกัด : http://library.utcc.ac.th
บทคัดย่อ : การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการหอพักสตรี ในอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี และปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเช่าที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน และความต้องการเช่าหอพักสตรี รวมถึงลักษณะและรูปแบบของที่อยู่อาศัย สิ่งอำนวยความ สะดวกต่าง ๆ และความสามารถในการจ่ายค่าเช่าของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งข้อมูลที่ใช้มาจาก การออกแบบสอบถามนักศึกษาหญิงของสถาบันราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี จำนวน 400 ตัวอย่าง ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความต้องการหอพักสตรี คิดเป็นร้อยละ 57.8 ซึ่ง หมายถึงโอกาสทางการตลาดของโครงการหอพักสตรีในพื้นที่อำเภอจอมบึง ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่าง ที่ต้องการเช่าหอพักสตรีส่วนใหญ่ต้องการให้มีห้องน้ำภายในห้องพัก ร้อยละ 66.7 สำหรับ รูปแบบห้องพัก พบว่า ร้อยละ 58.9 ต้องการห้องเดี่ยว และร้อยละ 20.8 ต้องการห้องคู่ โดยมีความต้องการห้องพักขนาด 7-9 ตารางเมตร คิดเป็นร้อยละ 49.4 นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่าง ที่ต้องการห้องเดี่ยวที่มีห้องน้ำภายใน ร้อยละ 43.3 สามารถจ่ายค่าเช่าในราคา 300-600 บาทต่อเดือน ร้อยละ 27.9 สามารถจ่ายในราคา 601-900 บาทต่อเดือน และ ร้อยละ 23.1 และ 5.8 สามารถจ่ายในราคา 901-1,200 และ 1,201-1,500 บาทต่อเดือน ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่ต้องการห้องพักคู่ที่มีห้องน้ำภายในส่วนใหญ่สามารถ จ่ายในราคา 901-1,200 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 56.5 และกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการ เช่าหอพักสตรีนี้ ร้อยละ 45.5 ต้องการห้องพักที่มีมิเตอร์น้ำและไฟฟ้า รวมทั้งต้องการ สิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้องพัก ได้แก่ เตียง, โต๊ะ, เก้าอี้, พัดลม, โทรศัพท์ภายใน ห้องพัก, ตู้เสื้อผ้า, ที่ตากผ้าและที่รองนอน ซึ่งผลการสำรวจนี้เป็นประโยชน์ในการ กำหนดลักษณะและรูปแบบที่เหมาะสมของโครงการหอพักสตรี ทั้งนี้ได้กำหนดห้องพักขนาด 3 x 4 ตารางเมตร ที่มีห้องน้ำและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ตามที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ ในส่วนของความเป็นไปได้ทางเทคนิคการก่อสร้างนั้น ได้ดำเนินการออกแบบอาคารและรูปแบบ ห้องพักให้ถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคารและพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2507 ผลการศึกษา พบว่า โครงการหอพักสตรี 2 ชั้น ที่มีห้องพักจำนวน 45 ห้อง และโครงการหอพักสตรี 3 ชั้น ที่มีห้องพักจำนวน 70 ห้อง มีความเป็นไปได้ทางเทคนิค ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเช่าที่อยู่อาศัยในปัจจุบันและความต้องการเช่า หอพักสตรี โดยใช้วิธี Chi-Square ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ได้แก่ปัจจัยสาขาวิชา, รายได้, งานพิเศษ, ภูมิลำเนา, ระยะเวลาในการเดินทางไปศึกษา, การเดินทางไปศึกษาและการเคยเช่า หอพักสตรี ยกเว้นปัจจัยชั้นปี สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างชุดของปัจจัยต่าง ๆ กับการ ตัดสินใจเช่าที่อยู่อาศัยในปัจจุบันโดย Logit Model และความต้องการเช่าหอพักสตรีโดย Probit Model สามารถอธิบายได้ดังนี้ คือ การตัดสินใจเช่าที่อยู่อาศัยในปัจจุบันมีความ สัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับภูมิลำเนาที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 และมีความสัมพันธ์ในทิศทาง ตรงข้ามกับงานพิเศษและการเดินทางไปศึกษาที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 นอกจากนี้การตัดสินใจ เช่าที่อยู่อาศัยในปัจจุบันยังมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับรายได้ ที่ระดับ นัยสำคัญ 0.01 และมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงข้ามกับสาขาวิชาที่ระดับนัยสำคัญ 0.01 ในขณะที่ความต้องการเช่าหอพักสตรีมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับการเคยเช่าหอพัก สตรี ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงิน ณ อัตราค่าเช่า 1,200 บาทต่อเดือนและ อัตราส่วนลดร้อยละ 13.0 พบว่า มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ -458,956.66 และ 212,991.45 บาท อัตราผลตอบแทนต่อต้นทุน (B/C) เท่ากับ 0.91 และ 1.03 อัตราผลตอบแทน ภายในโครงการ (IRR) เท่ากับร้อยละ 11.67 และ 13.45 และระยะคืนทุน 6 ปี 7 เดือน และ 5 ปี 8 เดือน สำหรับโครงการหอพักสตรี 2 ชั้น และ 3 ชั้น ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่า โครงการหอพักสตรี 3 ชั้น มีความเป็นไปได้ในการลงทุนมากกว่า อย่างไรก็ตาม จากผลของ การวิเคราะห์ความอ่อนไหวชี้ให้เห็นว่า โครงการหอพักสตรี 3 ชั้น แห่งนี้ ยังคงไม่เหมาะสม ที่จะลงทุนเนื่องจากผลทางรายได้และค่าใช้จ่าย คือ รายได้จากค่าเช่าสามารถลดลงได้เต็มที่ ร้อยละ 3.08 โดยที่ค่าใช้จ่ายคงที่ และค่าใช้จ่ายจากค่าน้ำ-ไฟฟ้าสามารถเพิ่มขึ้นได้ เต็มที่ร้อยละ 207.62 โดยที่รายได้คงที่ แสดงว่าโครงการหอพักสตรี 3 ชั้น จะมีห้องว่าง ได้ 2 ห้องเท่านั้น ตลอดอายุโครงการ มิฉะนั้นมูลค่าปัจจุบันสุทธิจะติดลบ ดังนั้น โครงการหอพักสตรี 3 ชั้น ณ อัตราค่าเช่า 1,200 บาทต่อเดือน ยังไม่น่าลงทุน เมื่อพิจารณา ถึงอัตราค่าเช่า 1,500 บาทต่อเดือน พบว่า มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 2,066,480.79 บาท ระยะคืนทุน 4 ปี 5 เดือน อัตราผลตอบแทนต่อต้นทุน (B/C) และอัตราผล ตอบแทนภายในโครงการ (IRR) เท่ากับ ร้อยละ 1.28 และ 17.16 ตามลำดับ ดังนั้นถ้า โครงการหอพักสตรี 3 ชั้น สามารถเพิ่มรายรับจากค่าเช่าห้องได้ในราคา 1,500 บาทต่อเดือน ก็จะทำให้ผลตอบแทนคุ้มค่าน่าลงทุนมากยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น