ชื่อนักศึกษา : สุพจน์ วัฒนวิทย์
สถาบัน : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญา : มหาบัณฑิต
หลักสูตร : สถาปัตยกรรมศาสตร์
สาขา : การวางผังเมือง
ปี : 2543
ISBN : 974-13-1363-2
สืบค้นข้อมูลต้นสังกัด : http://library.car.chula.ac.th
บทคัดย่อ : วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนะแนวทางการวางแผนการใช้ที่ดินเพื่อการจัดการน้ำเสียชุมชนเทศบาลเมืองราชบุรี โดยทำการวิเคราะห์ปัจจัยทางด้านลักษณะภูมิประเทศ กิจกรรมการใช้ที่ดินความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่ ปริมาณน้ำเสียและแนวทางการบำบัดน้ำเสีย ผลการศึกษาพบว่าลักษณะภูมิประเทศในเขตเทศบาลเมืองราชบุรีตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำ แม่กลอง พื้นที่มีความลาดชันต่ำโดยทิศทางการไหลของน้ำผิวดินจะไหลจากทางด้านทิศตะวันตกของเทศบาลเมืองราชบุรีบริเวณเขาแก่นจันทร์ไปยังแม่น้ำแม่กลองซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพื้นที่ การใช้ที่ดินของชุมชนเมืองราชบุรีจะกระจุกตัวอยู่บริเวณริมแม่น้ำแม่กลองทั้งย่านพาณิชยกรรมและย่านพักอาศัยย่านอุตสาหกรรมประเภทโรงงานเครื่องปั้นดินเผาจะอยู่ที่บริเวณถนนเพชรเกษมสายเก่า ถนนศรีสุริยวงศ์และ ถนนเจดีย์หัก ส่วนย่านสถาบันราชการจะรวมกันอยู่เป็นศูนย์ราชการบริเวณถนนสมบูรณ์กุล การขยายตัวของชุมชนเมืองราชบุรีจะขยายไปตามแนวถนนมีศูนย์กลางความหนาแน่นอยู่ที่ย่านพาณิชยกรรมใจกลางเมือง ส่วนที่ขยายออกไปส่วนใหญ่เป็นประเภทพักอาศัยและอาคารพาณิชย์จากกิจกรรมในการใช้น้ำในการอุปโภคและบริโภคของประชากรในชุมชนก่อให้เกิดน้ำเสียขึ้น การวางแผนควบคุมการใช้ที่ดินจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการกำหนดทิศทางเพื่อการจัดการน้ำเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากการศึกษาพบว่าปริมาณน้ำเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 20 ปีข้างหน้า ปี พ.ศ. 2562 เทศบาลเมืองราชบุรีจะมีปริมาณน้ำเสียที่จะเกิดขึ้นทั้งสิ้น 10,389 ลูกบาศก์เมตรต่อวันพื้นที่ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียแบบ Aerated Lagoon จะใช้ทั้งสิ้น 23 ไร่และระบบบำบัดแบบ Activated Sludge จะใช้พื้นที่ทั้งสิ้น 13 ไร่บริเวณก่อสร้างควรอยู่ทางด้านทิศใต้นอกเขตเทศบาลซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและเป็นที่ลุ่มต่ำง่ายต่อการรวบรวมน้ำเสียและค่าใช้จ่ายในการลงทุนต่ำ ดังนั้นแนวทางการจัดการน้ำเสียชุมชนในอนาคต จำเป็นต้องอาศัยการวางแผนและควบคุมการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศและระบบสาธารณูปโภคของเมืองส่งผลให้การจัดการน้ำเสียเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดก่อเกิดประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อมที่ดีของชุมชนต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น