ผลดีของการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในกระบวนการเรียนรู้และการจัดการ ความรู้ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของวิสาหกิจชุมชน : ศึกษากรณีจังหวัดราชบุรี

ชื่องานวิจัย : ผลดีของการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในกระบวนการเรียนรู้และการจัดการความรู้ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของวิสาหกิจชุมชน : ศึกษากรณีจังหวัดราชบุรี


Good Effects from Application of Sufficiency Economic Philosophy in the Learning Process and Knowledge Management for Sustainable Development of Community Enterprise : Case Study of Ratchaburi



ชื่อผู้วิจัย
  1. ผศ.ดร.นรินทร์ สังข์รักษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โทร 034-255254
  2. ดร. ธีรศักดิ์ อุ่นอารมย์เลิศ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โทร 034-255254
ได้รับเงินอุดหนุนการวิจัย ประจำปี 2551 

********************

บทสรุปการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ1) ศึกษาผลดีของการประยุกต์ใช้แนวทางการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง ของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน 2) ศึกษากระบวนการเรียนรู้ และการจัดการความรู้ในการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง ของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน 3) เปรียบเทียบระดับความเป็นไปได้ของการประยุกต์ใช้แนวทางการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง ของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน และ4) ศึกษากรณีศึกษาเฉพาะรายของวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการประยุกต์ใช้แนวทางการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง การวิจัยเรื่องนี้ใช้วิธีการวิจัยแบบผสม (mixed methodology) ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ดำเนินการวิจัยเป็น 2 ระยะ เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม จำนวน 500 ชุดแบบสัมภาษณ์ระดับลึก จำนวน 25 คน การสนทนากลุ่ม 30 คน และการศึกษาเฉพาะกรณีวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จ 5 แห่ง 

ผลการวิจัย พบว่า ก่อนนำแนวทางการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ประโยชน์ที่ได้รับจะอยู่ในระดับปานกลาง ในด้าน 1) ความซื่อตรงในการประกอบการ 2) การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมในการประกอบการ 3) การรู้จักแบ่งปันและไม่เห็นแก่ตัว 4) การก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีร่วมกัน 5) การพึ่งพาตนเองได้ทางจิตใจ ภายหลังการนำแนวทางการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เห็นว่าประโยชน์ที่ได้รับเพิ่มมากขึ้นอยู่ในระดับมาก ในด้าน 1) ความซื่อตรงในการประกอบการ 2) การมีชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข 3) การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมในการประกอบการ 4) การพึ่งพาตนเองได้ทางสังคม 5) การรู้จักแบ่งปันและไม่เห็นแก่ตัว ชุมชนมีความ เข็มแข็ง มีเศรษฐกิจและสังคมดี 

การเปรียบเทียบความแตกต่างของประโยชน์ที่ได้รับทั้งก่อนและหลังการการนำแนวทางการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในวิสาหกิจชุมชน คือ 1) การมีชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข 2) การดำเนินชีวิตแบบทางสายกลาง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกันที่ดี 3) การใช้กิจกรรมของชุมชนเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และการจัดการความรู้ 4) การส่งเสริมการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชน 5) การสร้างเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล 

ผลดีที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้/การจัดการความรู้และลักษณะการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงของวิสาหกิจชุมชนนั้นอยู่ในระดับมาก ในด้าน 1) ความภาคภูมิใจในตนเองในการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง 2) การตระหนักในคุณค่าของการช่วยเหลือตนเองในการอยู่อย่างเศรษฐกิจพอเพียง 3) ความเครียดที่เกิดจากการประกอบอาชีพ ส่วนผลที่เกิดจากการเรียนรู้/การจัดการความรู้ ได้รับการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นผลดีที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้/การจัดการความรู้และลักษณะการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงมากที่สุด ในด้าน 1) การได้รับการเรียนรู้ตลอดชีวิต 2) การมีหนี้สินน้อยไม่ก่อให้เกิดปัญหาครอบครัว 3) การมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตดี ยึดมั่นในคุณธรรมประเพณีที่ดีงาม และการมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี ผลที่ได้จากการเรียนรู้และการจัดการความรู้ในด้านของการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง การแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้ ส่วนใหญ่ได้รับความรู้มาจากภายนอกท้องถิ่นมากที่สุด ร้อยละ 73.0 โดยแหล่งของความรู้ที่ได้รับนั้นมาจากสื่อบุคคลมากที่สุด ร้อยละ 49.8 รองลงมาคือ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ร้อยละ 40.0 ส่วนผลที่เกิดจากการใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับแนวเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินกิจการวิสาหกิจชุมชนนั้น กลุ่มตัวอย่างได้รับในระดับมาก ร้อยละ 40.8 

การปฏิบัติที่ดี 1) การซื่อสัตย์ต่อลูกค้าและผู้บริโภค 2) การผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อการจำหน่ายไม่เหลือมากเกินไป 3) การช่วยเหลือตนเองขยายฐานให้เกิดการรวมกลุ่ม 4) การสร้างเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้ 5) การสร้างพันธมิตรร่วมกัน 6) การกระจายความเสี่ยง 7) ศูนย์การเรียนรู้ สู่การพัฒนาอาชีพ 8) การอุทิศตนเพื่อสังคมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องของการแบ่งปัน การเปรียบเทียบสมรรถนะ มีการผสมผสานคุณธรรมมาใช้ในการประกอบการ/บริการอย่างเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และมีการนำความรู้ในท้องถิ่นมาผสมผสานความรู้ใหม่อย่างเหมาะสม รูปแบบของการเรียนรู้ มี 3 รูปแบบคือ 1) การเรียนรู้จากวงใน 2) การเรียนรู้จากกลุ่ม และ3) การเรียนรู้จากองค์กร/สถาบัน การจัดการความรู้จากปรากฏการณ์จากพื้นที่ การจัดการความสัมพันธ์และการจัดการความรู้ของวิสาหกิจชุมชน การปฏิบัติร่วมกันของกลุ่มสมาชิกและพฤติกรรมการเห็นประโยชน์มากขึ้น ผลลัพธ์ที่ออกมาแม้ไม่ได้กำไรมากที่สุด หรือเน้นกำไรระยะสั้น แต่มีความสุข ความพอใจ กับสิ่งที่เกิดจากความพอเพียงสามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ ลดปัญหาหนี้สิน รายรับรายจ่ายได้มากขึ้น การสร้างศรัทธาของผู้นำสรุปบทเรียนได้ คิด วิเคราะห์ ปรับปรุงแก้ไขให้องค์กร/ กลุ่มมีความเข้มแข็ง สมาชิกมีส่วนร่วม มีกองทุน เงินทุนทำงานได้ และเรียนรู้เรื่องวิสาหกิจชุมชนได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน จนส่งผลถึงครอบครัวเป็นสุข ชุมชนเป็นสุขขึ้น เพราะกระบวนการเรียนรู้สอดคล้องกับวิธีชุมชน และตรงตามความต้องการ ทั้งยังเกิดผลทั้งนามธรรมและรูปธรรมที่จับต้องได้จริง 

ข้อค้นพบ การดำเนินวิสาหกิจชุมชนต้องมีการเรียนรู้และเชี่ยวชาญเฉพาะในสาขาที่ทำ การจัดการแบบค่อยเป็นค่อยไป บนพื้นฐานของความไม่เสี่ยง เน้นความซื่อสัตย์และการประหยัดเป็นสำคัญ การสร้างความสุขร่วมกัน การอุทิศตนให้แก่สังคม รวมถึงเกิดประโยชน์หรือผลดีที่ได้รับ จากการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในวิสาหกิจชุมชน 21 ประการ และการเรียนรู้ 15 ประการ ข้อเสนอแนะ รัฐควรสอดแทรกเศรษฐกิจพอเพียงในการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงมหาวิทยาลัย การทำเป็นตัวอย่างที่ดี การสร้างรากฐานความสัมพันธ์ครอบครัวที่เข้มแข็ง และการปฏิบัติของวิสาหกิจชุมชนบนพื้นฐานของหลักศาสนธรรม มีความซื่อสัตย์และคุณธรรมเป็นที่ตั้ง ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น