การศึกษาข้อมูลพื้นฐานของเด็กต่างชาติและครอบครัวใน 3 พื้นที่ จ.พังงา สมุทรสงครามและราชบุรี

การศึกษาข้อมูลพื้นฐานของเด็กต่างชาติและครอบครัวใน 3 พื้นที่  จังหวัดพังงา สมุทรสงครามและราชบุรี

โดย : ผู้ช่วยศาตราจารย์กรรณิกา ขวัญอารีย์

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้เกิดกระแสการอพยพโยกย้ายถิ่นขนาดใหญ่ในประเทศพม่าเข้าสู่ประเทศใกล้เคียง มีกาคาดการณ์ว่า ปัจจุบันมีผู้อพยพย้ายถิ่นจากพม่าสู่ประเทศใกล้เคียงเป็นจำนวนประมาณห้าล้านคน (กฤตยา อาชวนิจกุล :2543,น.1) และมีผู้อพยพเข้าประเทศไทยกว่า 1 ล้านคน

การเข้าเมืองของผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ไม่ถูกกฎหมาย แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้ ผู้ลักลอบเข้าเมืองมาทำงาน ผู้เป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ และผู้ผลัดถิ่นลี้ภัยจากสงคราม และทั้ง 3 กลุ่มนี้ได้เป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับเด็กต่างชาติ ทั้งเด็กๆ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านั้นแล้วด้วยตนเอง หรือการที่พ่อแม่เป็นคนต่างชาติแต่เด็กเกิดในประเทศไทยและรัฐไทย ไม่อนุญาตให้มีสถานะอยู่อาศัยได้ตามเกณฑ์ของรัฐ ทำให้เด็กต้องกลายเป็นคนไร้สัญชาติและขาดสิทธิขั้นพื้นฐานหลายประการ

ปัญหาเด็กต่างชาติในประเทศไทยถูกสังคมโลกจับตามองเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กควรต้องได้รับรวมถึงการมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมซึ่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก

แรงงานเด็กต่างชาติถ้าอยู่ในช่วงอายุ 15-17 ปี มักจะทำงานในกิจการประมงและประมงต่อเนื่องมากที่สุด รองลงมาอายุ 9-12 ปีทำงานในภาคเกษตรกรรมและรับใช้ในบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กต่างชาติไม่ได้จดทะเบียน ไม่ได้รับการคุ้มครองทั้งในเรื่องสัญชาติ ค่าแรง และสิทธิทางด้านการศึกษาเรียนรู้ การอ่านเขียนภาษาท้องถิ่น/ ภาษาไทย และกระบวนการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตอื่นๆ(ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย : 2549,น. 0-2)

สืบเนื่องจากค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ มีชั่วโมงการทำงานที่ยาว พักผ่อนน้อย ถูกโกงค่าแรง ถูกหักเงิน เมือเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน แรงงานต่างชาติจะหาทางรักษาเองและ ไม่ได้รับค่าแรงขณะเจ็บป่วย หรือชดเชยจากทุพพลภาพ ต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าแรงหลายเดือน (มูลนิธิรักษ์ไทย องค์กรแคร์ประเทศไทย: 2545.เอกสารอัดสำเนาไม่ระบุหน้า) จึงส่งผลให้สภาพที่อยู่อาศัย ของผู้อพยพต้องอยู่กันอย่างแออัดและมีคุณภาพชีวิตต่ำกว่ามาตรฐาน เกือบทั้งหมดต้อง กินอยู่หลับนอนในห้องเล็กๆเพียงห้องเดียว ไม่มีจำนวนห้องน้ำที่เพียงพอ ขาดระบบกำจัดขยะและน้ำเสีย ขาดแหล่งน้ำดื่มที่สะอาด ขาดน้ำใช้เพื่อการซักล้างและชำระร่างกาย อันเป็นผลต่อปัญหาด้านสุขภาพอนามัย ที่ผู้อพยพกว่าครึ่ง เป็นโรคท้องร่วงและผิวหนัง (กฤตยา อาชวนิจกุลและคณะ:2543,น. 205)

แต่อย่างไรก็ตามต้องมีทางเลือกที่จะให้กลุ่มเด็กแรงงานต่างชาติกลุ่มนี้ต้องได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ เพื่อที่จะสามารถเข้าใจชุมชนตนเอง ที่มาและความรักในวัฒนธรรมท้องถิ่นตนเองและไทย นอกจากนี้ยังสามารถเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และไม่ถูกเลือกปฏิบัติในอนาคต

โครงการต่อต้านการค้าเด็กข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(ประเทศไทย) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งไปที่การปกป้องเด็กๆ จากการเสี่ยงต่อการถูกทำร้าย ทารุณกรรม การหาประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นผลจากการอพยพข้ามแดน โดยการหาแนวทางในการพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมต่อระบบการปกป้องเด็กในบริเวณพื้นที่อพยพ สำหรับประเทศไทยมีการจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนเพื่อเด็กต่างชาติ ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา อำเภอแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี รวมทั้งสิ้นจำนวน 5 ศูนย์

เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการประเมินผลเพื่อแสวงหาแนวทาง/รูปแบบที่เหมาะสมต่อการปกป้องเด็กในพื้นที่อพยพโครงการฯจึงจัดทำการศึกษาข้อมูลพื้นฐานของเด็กต่างชาติและครอบครัวใน3 พื้นที่คือ จังหวัดพังงา สมุทรสงครามและราชบุรี เพื่อเป็นฐานข้อมูลเปรียบเทียบวิถีชีวิตของเด็กเมื่อเริ่มต้นโครงการกับเมื่อสิ้นสุดโครงการ และเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์และวิถีชีวิตของเด็กต่างชาติและครอบครัวตามที่เผชิญอยู่จริง

วัตถุประสงค์
  1. เพื่อทราบข้อมูลพื้นฐานของผู้อพยพและประสบการณ์การย้ายถิ่น
  2. เพื่อทราบข้อมูลด้านการศึกษาและการสนับสนุนการศึกษาของเด็กอพยพ
  3. เพื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงานและการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้อง
วิธีการดำเนินงานวิจัย

ทีมวิจัยประกอบด้วย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติและเจ้าหน้าที่จากโครงการต่อต้านการค้าเด็กข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(ประเทศไทย) และครูในศูนย์การเรียนเพื่อเด็กต่างชาติทั้ง 5 ศูนย์(เป็นผู้อพยพ)ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนักวิจัย

ประชากรและการสุ่มตัวอย่าง

ประชากรในการศึกษาคือเด็ก และผู้ปกครอง ในศูนย์การเรียนเพื่อเด็กต่างชาติของโครงการต่อต้านการค้าเด็กข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงประเทศไทย จำนวน 5 ศูนย์ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่จังหวัดพังงา สมุทรสงคราม และราชบุรี

การสุ่มตัวอย่าง นักวิจัยจะเลือกผู้ตอบแบบสอบถามโดยวิธีการเลือกการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย (Simple random sampling) และวิธีให้ผู้ตอบแบบสอบถามแต่ละรายแนะนำว่าใครเป็นผู้ตอบแบบสอบถามรายต่อไป (Snowball sampling) ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นเด็กและผู้ปกครองในศูนย์ฯ การสุ่มตัวอย่างอย่างง่ายผู้วิจัยจะเลือกผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มแรกโดยวิธีการสุ่มเลือกจากนั้นผู้ตอบแบบสอบถามแต่ละคนในกลุ่มแรกนี้จะบอกชื่อคนอื่นๆที่ควรจะตอบแบบสอบถามเป็น รายต่อๆไป

ตารางแสดงจำนวนกลุ่มตัวอย่าง


ศูนย์เรียนรู้เพื่อเด็กต่างชาติ
  • จ.พังงา อ.ตะกั่วป่า (3 ศูนย์)  เด็ก 249 คน ผู้ปกครอง 249 คน รวม 498 คน
  • จ.สมุทรสงคราม อ.เมือง (1 ศูนย์) เด็ก 45 คน ผู้ปกครอง 45 คน รวม  90 คน
  • จ.ราชบุรี อ.เมือง (1 ศูนย์) เด็ก 80 คน ผู้ปกครอง 80  คน รวม 160 คน
  • รวมทั้งสิ้น เด็ก  374 คน ผู้ปกครอง  374 คน รวม  748 คน 

วิธีการเก็บช้อมูล

การเก็บข้อมูลแบ่งเป็น 2 ระยะ
  • ระยะแรก เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเด็กในศูนย์การเรียนเพื่อเด็กต่างชาติ และผู้ปกครองโดยใช้แบสอบถามที่ต้องแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษแล้วแปลเป็นภาษาพม่า อีกครั้งเพื่อใช้สัมภาษณ์ เมื่อสัมภาษณ์เรียบร้อยแล้วก็ต้องแปลเอกสารกลับเป็นภาษาไทยเพื่อนำไปประมวลและวิเคราะห์ต่อไป
  • ระยะที่สอง เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจากครูในศูนย์ ใช้Focus Group 2 ครั้ง ที่ต้องสื่อสารทั้ง 2 ภาษาโดยครูบางคนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้จะช่วยเป็นล่ามแปลจากอังกฤษเป็นพม่าและพม่าเป็นอังกฤษ
เครื่องมือการเก็บรวบรวมข้อมูล แบ่งเป็น 2 ประเภท
  1. แบบสอบถามซึ่งประกอบด้วยทั้งแบบปลายปิดและปลายเปิด ประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับ ข้อมูลทั่วไปของเด็ก สภาวะของเด็กในปัจจุบันและ การย้ายถิ่นมาอยู่ในประเทศไทย ภูมิหลังของครอบครัว และ ประสบการณ์เกี่ยวกับการย้ายถิ่น และ การเลือกปฏิบัติกับแรงงานต่างชาติ และบุตรหลาน
  2. แบบสัมภาษณ์ครูในศูนย์ ประกอบด้วยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ สภาพปัญหาการอพยพของผู้อพยพ ชีวิตความเป็นอยู่ และการศึกษาของเด็กอพยพ
การวิเคราะห์ข้อมูล

ข้อมูลเชิงคุณภาพซึ่งเก็บรวบรวมโดยวิธีการสังเกตและสนทนากลุ่ม มีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการนำประเมินและตรวจสอบข้อมูลร่วมกับเชิงปริมาณ แล้ววิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การพรรณนา

ข้อมูลเชิงปริมาณเก็บรวบรวมด้วยการใช้แบบสอบถามและวิเคราะห์ด้วยโปรแกรม SPSS Version 14 ข้อมูลแต่ละพื้นที่ทำการบันทึกลงในโปรแกรม SPSS แยกจากกันเพื่อการวิเคราะห์ที่สะดวก จากนั้นจึงทำการตรวจสอบข้อมูล แก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการบันทึกข้อมูลและอธิบายประกอบกับข้อมูลเชิงคุณภาพ

ผลการศึกษา

ส่วนที่ 1 ข้อมูลพื้นฐานของผู้อพยพและประสบการณ์การย้ายถิ่น

ผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็น ผู้ชาย ร้อยละ 64.2 อายุอยู่ในช่วง 27-37 ปีร้อยละ 51.1และเด็กที่ให้สัมภาษณ์ ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชาย ร้อยละ 57.7 อายุอยู่ในช่วง 5-10 ปี ร้อยละ 55.4 ระดับการ ศึกษาของสมาชิกในครอบครัวเมื่อแยกความแตกต่างเรื่องเพศปรากฏว่า สมาชิกเพศชายและหญิง ศึกษาในระดับ เกรด1-เกรด 6 ร้อย70และ65 ตามลำดับ

เด็กๆส่วนใหญ่พักอาศัยกับพ่อและแม่มากที่สุดร้อยละ 85.4 เกิดในประเทศพม่า โดยแยกเป็น รัฐทวอย รัฐมอญ และรัฐกะเหรี่ยง ตามลำดับเกิดในประเทศไทย ร้อยละ 39.8 สำหรับสถานที่เกิดพบว่าส่วนใหญ่เกิดที่บ้าน (โดยหมอตำแย) ร้อยละ 63.7 มีเอกสารรับรองการเกิดถึงร้อยละ 58 ซึ่งเอกสารรับรองการเกิดส่วนใหญ่เป็นสูติบัตร ร้อยละ31 และสำหรับการมีบัตรประจำตัวของเด็ก ปรากฏว่าส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารประจำตัว ร้อยละ 58 รองลงมามีเอกสารประเภททร.38/1 – เลข 13 หลัก ร้อยละ 18.5 ยกเว้นจังหวัดสมุทรสงครามที่พบว่ามีผู้ที่มีเอกสารประเภททร.38/1 – เลข 13 หลักและผู้ที่ไม่มีเอกสารในจำนวนที่ไล่เลี่ยกันคือร้อยละ 37.8 และ 33.3 ตามลำดับ

แต่ละครอบครัวที่มีผู้อพยพส่วนใหญ่มีผู้ที่มีงานทำจำนวน 2 คนร้อยละ 47.6 ซึ่งสอดคล้องกับผู้ที่มีใบอนุญาต/เลข 13 หลัก ส่วนใหญ่มีใบอนุญาตครอบครัวละ 2 คน ร้อยละ 48.8 ประกอบอาชีพทำสวนยาง ก่อสร้าง และประมง/ประมงต่อเนื่อง

ถิ่นฐานบ้านเกิดของผู้อพยพส่วนใหญ่มาจากรัฐทวอยร้อยละ 56.7 สื่อสารด้วยภาษาพม่าร้อยละ 47.3 ส่วนใหญ่เดินทางเข้ามากับนายหน้า ร้อยละ 47 มีความรู้สึกไม่เชื่อใจนายหน้าเลย ร้อยละ 53.2 และรู้สึกว่าการเดินทางเสี่ยงมากร้อยละ 46.5 สำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 7,000 - 65,000 บาทขึ้นอยู่กับวิธีการเดินทาง มี 3 ช่องทาง คือ
  1. ช่องทางที่หนึ่ง เกาะสอง จังหวัดระนอง กลุ่มแรงงานส่วนใหญ่ที่เข้ามา โดยเดินทางเข้ามาเองและผ่านกระบวนการนายหน้า (ทั้งนายหน้าที่เป็นคนไทยและนายหน้าที่เป็นพม่า) ค่าใช้จ่ายที่เข้ามาเกาะสอง ประมาณ 65,000 บาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานจากรัฐทวอย
  2. ช่องทางที่สอง แรงงานข้ามชาติเมาทางชายแดนด้านด่านเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี กลุ่มที่มาทางช่องทางนี้ส่วนใหญ่จะเดินทางเข้าโดยผ่านกระบวนการของนายหน้า ผ่านทั้งนายหน้าไทยและนายหน้าพม่า เดินทางจากสังขละบุรีมาโดยรถปิคอัพ หรือรถตู้ ค่าใช้จ่ายประมาณ 12,000 – 13,000 บาท แรงงานกลุ่มที่เดินทางเข้ามาทางช่องนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเชื้อชาติมอญ
  3. ช่องทางที่สาม แรงงานข้ามชาติเขามาทางช่องทางอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ช่องทางนี้แรงงานไม่นิยมเดินทางมาทางนี้เพราะค่อนข้างลำบากมีความเสี่ยงในรูปแบบต่างกันเช่น ทหารตำรวจพม่า กองกำลังกะเหรี่ยง และการเดินทางลำบาก แรงงานที่เดินทางเข้ามาช่องนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเชื้อชาติกะเหรี่ยง
ส่วนใหญ่อาศัยในประเทศไทยมากกว่า 5 ปี พื้นที่เป้าหมาย/ปลายทางที่เข้าประเทศส่วนใหญ่มุ่งสู่ภาคใต้ เช่นพังงา ระนอง สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต ร้อยละ 54

ประสบการณ์การอพยพย้ายถิ่นส่วนใหญ่คิดว่าอยู่เมืองไทยทำให้มีกิน มีเงินใช้ และมีงานทำร้อยละ39.6 รองลงมาคิดว่าชีวิตที่ประเทศไทยปลอดภัยกว่าในประเทศพม่าและที่สำคัญลูกๆได้ เรียนหนังสือร้อยละ 35.3 สำหรับงานที่ทำส่วนใหญ่เห็นว่าดีพอใช้เนื่องจากนายจ้างดี เก็บเงินได้ ได้เงินสม่ำเสมอ ซื้อบ้านที่พม่าได้เพราะได้งานที่ไทยร้อยละ 36.1

ส่วนที่ 2 การศึกษาและการสนับสนุนการศึกษาของเด็กอพยพ

การศึกษาของเด็กในขณะที่อยู่ที่ประเทศต้นทาง ส่วนใหญ่ ไม่เคยได้รับการศึกษา ร้อยละ 42.2 รองลงมาเคยได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 39.6 ปัจจุบันมีเด็กที่กำลังศึกษา จำนวน 274 คน ซึ่ง กำลังศึกษาที่ศูนย์การเรียนรู้ คิดเป็นร้อยละ 59.9

เด็กที่กำลังศึกษาส่วนใหญ่ได้ใส่เครื่องแบบ/ชุดนักเรียน ร้อยละ 83.2 เครื่องแบบและอุปกรณ์การศึกษาของเด็กส่วนใหญ่ได้จากโรงเรียน/ศูนย์การเรียนให้มาร้อยละ 71.2 สิ่งที่เด็กชอบมากที่สุดเวลามาเรียนหนังสือคือการได้เรียนหนังสือร้อยละ 49.6 แต่สิ่งที่เด็กไม่ชอบมากที่สุดเวลามาเรียนหนังสือ คือ โรงเรียนเล็กเกินไป ไม่มีสนามเด็กเล่น และรถโรงเรียนเล็กเกินไป ร้อยละ 43.4

เด็กส่วนใหญ่ไม่ทำงานขณะเรียนหนังสือร้อยละ 75.2 มีเพียงร้อยละ 15.3 ที่ทำงานไปด้วยขณะเรียน งานที่ทำได้แก่ช่วยพ่อแม่ทำสวนยางตอนเช้า ทำงานก่อสร้าง แกะกุ้ง ปลา ผ่ามะพร้าว และช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านเป็นต้น ส่วนเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือมักจะอยู่กับญาติ พี่น้อง หรือเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกันร้อยละ 37 มีเด็กทำงานก่อสร้าง ทำสวนยาง และประมงต่อเนื่อง

เด็กส่วนใหญ่คบเพื่อนเชื้อชาติเดียวกันเช่นพม่า ร้อนละ 44.1 เนื่องมาจากการเป็นคนในรัฐเดียวกัน เช่นทวอย คบกันคราวละไม่เกิน 2-5 คน ร้อยละ 58.8 อยู่ในระแวกบ้านเดียวกันและพบกันที่โรงเรียน

นอกจากนี้ยังพบว่าสิ่งที่ทำให้ไม่มีความสุขมากที่สุดคือตำรวจมาจับบ่อยๆร้อยละ 23.3 รองลงมาไม่ได้ไปโรงเรียนร้อยละ 20 ยังมีบางรายโดนเพื่อนบ้านทุบตี และไม่ชอบที่ต้องไปจ่ายเงินให้ตำรวจ

เมื่อพิจารณาถึงเรื่องกิจกรรมที่ทำส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกับชุมชนผู้อพยพด้วยกันหรือบางครั้งหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเป็นผู้จัดให้เช่นงานวันเด็ก วันปีใหม่ วันสงกรานต์ และการแข่งบอลล์ จะมีกิจกรรมที่ทำร่วมกับชุมชนในพื้นที่บ้างเช่นไปวัดทำกิจกรรมทางศาสนา เป็นต้น การหลีกเลี่ยงเช่นนี้จึงเป็นผลให้เด็กไม่เคยทะเลาะวิวาทร้อยละ82.3 มีบางรายต้องเผชิญกับ การแสดงออกต่างๆของชุมชน เช่นห้ามเล่นกับลูก ถูกขว้างด้วยก้อนอิฐ ถูกหาว่าเป็นขโมย โดนโกง

เมื่อเจ็บป่วยส่วนใหญ่ไปรักษาที่คลินิก ร้อยละ44.9 ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากการบริการที่รวดเร็วกว่า ดีกว่าและไม่ดูถูกแรงงานข้ามชาติ แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะแพงกว่าโรงพยาบาล ผู้จ่าย ค่ารักษาพยาบาลส่วนใหญ่มักเป็นพ่อแม่ นายจ้าง และจ่ายเองตามลำดับ โดยโรคที่ต้องไปรักษาส่วนใหญ่เป็นไข้ เป็นหวัด ปวดหัว

ส่วนที่ 3 การจ้างงานและการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้อง

ผู้อพยพส่วนใหญ่ไม่มีปัญหากับนายจ้าง/คนในพื้นที่ ร้อยละ 85.6 ส่วนทัศนคติต่อคนไทยส่วนใหญ่เห็นว่าใจดีร้อยละ 53.7 มีบางรายถูกทำร้ายเมื่อถูกจับ ถูกเลือกปฏิบัติเมื่อไปใช้บริการสาธารณะเช่นโรงพยาบาลหรือรถโดยสาร และคำที่มักใช้เรียกผู้อพยพส่วนใหญ่เรียกตามชื่อของ ผู้อพยพเองร้อยละ 83.9

ผู้อพยพได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรภาครัฐมากที่สุดร้อยละ 71.6 ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรเอกชน เช่น World Vision องค์กรคริสเตียน แพทย์ไร้พรมแดน(M.S.F) ร้อยละ26.3 และปัจจัยที่ทำให้ความเป็นอยู่ของผู้อพยพดีขึ้น ส่วนใหญ่คิดว่าเป็นการได้ค่าแรงเพิ่มร้อยละ 34.3

อภิปรายผลและข้อเสนอแนะ

กลุ่มที่ทำการศึกษาในครั้งนี้ถือว่าเป็นกลุ่มผู้อพยพที่ลักลอบเข้ามาทำงานเป็นพวกที่ตั้งใจหลบหนีเข้ามาเพื่อทำงานโดยเฉพาะ เพื่อหนีสภาพชีวิตที่ถูกทารุณกรรมจากการกวาดล้าง หรือการถูกเกณฑ์ใช้แรงงาน ถูกขูดรีดภาษี รวมทั้งความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น อดอยาก และไม่มีงานทำในประเทศพม่า

ผู้อพยพส่วนใหญ่เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้วมักจะไม่กลับไปเยี่ยมบ้านและไม่มีการติดต่อกับครอบครัวอีกอาจเป็นเพราะ สภาพที่อยู่อย่างผิดกฎหมาย ทำให้ผู้อพยพส่วนใหญ่ต้องขังตัวเองในบ้านหรืออยู่แต่ในชุมชนของตนเองเท่านั้น (สุภางค์ จันทวานิช : 2549 น. 207-208)

การเดินทางเข้าประเทศของผู้อพยพ และการถูกแสวงหาผลประโยชน์

พื้นที่เป้าหมายหรือพื้นที่ปลายทางเมื่อเข้ามาอาศัยในประเทศไทย ส่วนใหญ่เข้ามาอาศัยในภาคใต้ที่จังหวัดพังงา ระนอง ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี มากที่สุด การเดินทางจากพม่ามายังประเทศไทย ผู้อพยพมักขอให้นายหน้าหรือบุคคลที่มีความคุ้นเคยกับเส้นทาง ด่านตรวจคนเข้าเมือง/ข่ายการ จ้างงานต่างๆ ช่วยเหลือในการลักลอบเดินทางเข้าไทยผู้อพยพรู้ตัวเองดีว่าเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง จึงอยู่กันอย่างหวาดกลัวการจับกุมการบีบบังคับ และการผลักดันกลับประเทศพม่า

ผู้อพยพจำนวนมากมีประสบการณ์ในการถูกละเมิดและถูกแสวงผลประโยชน์จากเจ้าที่ของรัฐไทย แต่ถึงกระนั้นผู้อพยพก็ยังคงคิดว่าพวกเขาสามารถทนต่อสิ่งเหล่านี้ได้มากกว่าการมีชีวิตอยู่ในประเทศพม่า (สุภางค์ จันทวานิช: 2549, น. 205)

ผู้อพยพเข้ามาจะถูกรีดไถค่าธรรมเนียมอย่างผิดกฎหมาย(ยงยุทธ เฉลิมวงษ์และคณะ, น.227-228) และจำเป็นต้องพึ่งพาขบวนการค้ามนุษย์ให้เป็นผู้นำพาเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยขบวนการนายหน้าหรืออาศัยเครือข่ายทางสังคมหรือที่เป็นญาติหรือเพื่อนที่เคยทำงานมาก่อนแล้วชักชวนเข้ามาแรงงานเหล่านี้จะเข้าประเทศไทย โดยมีทั้งคนไทยและคนพม่าร่วมขบวนการ นายหน้าชาวพม่าจะไปรับมาจากหมู่บ้านและพามาหาคนไทยที่ชายแดนโดยวิธีการเดินทางมีได้หลายทาง ทางเรือ ทางรถยนต์หรือทางรถโดยสาร

เมื่อถึงประเทศไทย ผู้อพยพส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในจังหวัดเดียวไม่ย้ายถิ่นฐานไปยังจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยอีก แต่จะมีการย้ายที่อยู่ภายในจังหวัดบ่อยครั้งเพื่อให้ได้งานที่มั่นคงกับตนเองและครอบครัว เพราะส่วนใหญ่ทำงานก่อสร้าง ที่พักจึงย้ายไปเรื่อยๆ ตามสถานที่ก่อสร้าง ไม่ว่าที่พักอาศัยจะเป็นอย่างไร ผู้อพยพทั้งหมดเดินทางออกไปจากที่พักอาศัยและ/หรือสถานที่ทำงานน้อยมาก เพราะกลัวการจับกุม และเป็นที่รับรู้กันอีกประการหนึ่งว่าผู้อพยพหญิงจะมีความเสี่ยงต่อการถูกจับมากกว่าผู้อพยพชายเมื่อต้องออกเดินทางจากที่พัก

ความสัมพันธ์กับสังคมรอบข้าง

ในด้านความสัมพันธ์ของผู้อพยพกับสังคมรอบข้างพบว่า ผู้อพยพมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมนอกชุมชนของตนในระดับปานกลาง กิจกรรมส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกับชุมชนผู้อพยพเองมากกว่า การอยู่อาศัยจึงแยกจากกันไม่มีการปะปนกับแรงงานไทย ผู้อพยพส่วนใหญ่จึงพูดภาษาไทยได้น้อย (สุภางค์ จันทวานิช : 2549,น. 207-208) ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่อาศัยในประเทศไทยมากกว่า 5 ปี แต่ภาษาที่สื่อสารง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันก็ไม่สามารถสื่อสารได้ กลับส่งผลดีประการหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นคือสามารถหลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาทกับคนในชุมชน

การศีกษา

ถึงแม้ว่าไทยได้รับรองพันธกรณีระหว่างประเทศที่จะเคารพสิทธิในการศึกษาของมนุษย์อย่างชัดเจน ทั้งในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 1948 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ค.ศ. ซึ่งกำหนดว่ารัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กที่จะได้รับการศึกษาใน พรบ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ระบุว่า การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสองปีที่อย่างทั่วถึงโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่ยังคงมีปัญหาในเรื่องการตีความของคำว่า “บุคคล” ว่าเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้นหรือไม่ ปัญหาที่ตามมาคือการไม่ยอมรับเด็กต่างชาติเข้าเรียนหรือหากเรียนได้ก็ไม่ให้หลักฐานการศึกษา ทั้งๆที่ในความเป็นจริงโรงเรียนสามารถออกหลักฐานทางการศึกษาได้ โดยบันทึกและลงนามกำกับข้อความว่า “ไม่มีหลักฐานตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร์” ลงไว้ในหลักฐานการศึกษาของเด็กต่างชาติเหล่านั้น นอกจากปัญหาในการตีความและทรัพยากรบุคคล ยังมีปัญหางบประมาณที่ต้องเพิ่มขึ้นของโรงเรียนและสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กต่างชาติไม่ได้รับการศึกษา

ในระดับชุมชนได้มีการสนับสนุนให้เด็กได้รับการเรียนรู้โดยองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องและองค์กรในชุมชนเอง แต่ไม่ได้เป็นที่เปิดเผยมากนัก เพื่อให้กลุ่มเด็กแรงงานต่างด้าวมีทางเลือกที่จะได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ เพื่อที่จะสามารถเข้าใจชุมชนตนเองที่มา และความรักในวัฒนธรรมท้องถิ่นไทย และประเทศต้นทาง เป็นแรงงานที่มีคุณภาพได้ในอนาคต

แรงงานเด็กที่ติดตามมากับครอบครัวต้องมาทำงานช่วยพ่อแม่ และเด็กที่เกิดในประเทศไทย ถือว่าเป็นเด็กไร้สัญชาติ โดยกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นเด็กเหล่านี้จะไม่ได้รับการคุ้มครองทั้งในเรื่องสัญชาติ ค่าแรงและสิทธิทางด้านการศึกษาเรียนรู้ (มูลนิธิรักษ์ไทย: 2546)

สุขภาพอนามัย

การเข้าถึงบริการสุขภาพแรงงานต่างชาติ มีการแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีบัตรอนุญาตทำงานและไม่มีบัตรอนุญาตทำงาน สำหรับในกรณีที่แรงงานต่างด้าวที่มีบัตรสามารถเข้ารับบริการได้ตามรหัสโรงพยาบาลในบัตรประจำตัวคนงานต่างแต่การจะเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลได้มากน้อยเพียงใดขึ้นกับกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มีบัตรและไม่รู้สิทธิของตนเองมากน้อยเพียงใด

ผู้อพยพซึ่งอยู่ในเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ ระนอง และมหาชัย มักจะเลือกเข้ารับบริการจากสถานพยาบาลของรัฐ ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรง หรือมีปัญหาในการคลอดบุตรเท่านั้น ในกรณีปกติมักซื้อยากันเอง หรือพึ่งสถานบริการของเอกชน ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายจะแพงกว่าก็ตาม เนื่องจากเพราะอยู่ใกล้ที่พักและไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน สำหรับ ผู้อพยพในจังหวัดชายแดน เช่น จังหวัดระนองยังมีทางเลือกรับบริการสาธารณสุขอีกทางหนึ่งคือ ข้ามพรมแดนกลับไปรับบริการที่เกาะสอง ประเทศพม่า (สุภางค์ จันทวานิช:2549,น.208)

การเข้ามาอยู่อย่างผิดกฎหมาย การมีรายได้น้อยต้องใช้ชีวิตอย่างอดออม และการที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้อพยพใช้ในการตัดสินใจแก้ปัญหาสุขภาพของตน ใช้วิธีการรักษาที่ใช้เงินไม่มาก เช่นรักษากับหมอพื้นบ้าน หมอเถื่อนชาวต่างด้าวด้วยกันเองและถ้ามีเงินบ้างก็เลือกที่จะไปสถานบริการเอกชนมากกว่า เพราะรู้สึกสนิทสนมและไว้วางใจไม่ถูกซักถามมากว่าเป็นใครมาจากไหน เด็กที่เกิดในประเทศไทย ส่วนใหญ่ จึงเกิดที่บ้าน (โดยหมอตำแย) (สุภางค์ จันทวานิช:2549, น.206-207)

ข้อเสนอแนะ
  1. ควรมีการเชื่อมต่อของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นเครือข่ายการทำงานมีการประสานงานกันในลักษณะเฉพาะด้านที่ครอบคลุมปัญหาด้านเด็กต่างชาติและแรงงานต่างชาติได้ทั้งหมด ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีการดำเนินงานตามกลุ่มเป้าหมายของตนเอง ประกอบกับควรจัดให้มีเวทีที่จะแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ด้านเด็กและแรงงานต่างชาติมีการเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ
  2. ควรจัดให้มีหน่วยงานภาครัฐที่รองรับปัญหาโดยตรง
  3. ควรจัดทำนโยบายและแผนงานร่วมกันที่ชัดเจนในเรื่องการให้การช่วยเหลือ คุ้มครองเด็กต่างชาติและแรงงานต่างชาติ เพื่อให้ได้รับการดูแล คุ้มครอง ช่วยเหลือ จากหน่วยงานอย่างได้มาตรฐานตามนโยบาย
  4. ควรมีการจัดทำทะเบียนผู้อพยพในแต่ละหมู่บ้าน โดยให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ดำเนินการจะดีกว่าให้เจ้าหน้าที่อำเภอเป็นคนจัดการเพราะผู้อพยพอาจจะไม่ยอมมาแสดงตนเนื่องจากเกรงว่าจะถูกจับ ทั้งนี้ต้องอธิบายให้ผู้อพยพเห็นถึงประโยชน์ของการจดทะเบียนว่าเมื่อหน่วยงานทั้งของรัฐ และเอกชนทราบจำนวนที่ชัดเจนก็จะทำให้วางแผนให้การช่วยเหลือได้ตรงตามจำนวน และความต้องการ
  5. รัฐต้องนำการสาธารณสุขเข้าไปให้ถึงกลุ่มผู้อพยพ เช่น การวางแผนครอบครัว และการควบคุมโรคติดต่อ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบในระยะยาวทั้งต่อผู้อพยพและคนไทยท้องถิ่น รวมทั้งเพื่อให้ผู้อพยพสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อีกทางหนึ่ง
  6. รัฐต้องวางแผนประชาสัมพันธ์ไม่ให้คนไทยท้องถิ่นเกิดทัศนคติในทางลบต่อผู้อพยพในพื้นที่ ต้องอธิบายให้เห็นถึงความเป็นมาและสาเหตุที่ทำให้คนเหล่านี้ต้องอพยพเข้ามาในประเทศไทย เพื่อไม่ให้คนไทยท้องถิ่นและคนไทยทั่วไปเข้าใจผิดว่าผู้อพยพเป็นคนร้าย
บรรณานุกรม
  • กฤตยา อาชวนิจกุล(บรรณาธิการ) .คนต่างด้าวในประเทศไทยคือใครบ้าง? มีจำนวนเท่าไร? ระบบฐานข้อมูลแบบไหนคือตำตอบ? ระบบฐานข้อมูลแบบไหนคือคำตอบ?. บริษัทเอดิสัน: กรุงเทพฯ, 2547.
  • มูลนิธิรักษ์ไทย องค์การแคร์ประเทศไทย. การศึกษาการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย กรณีศึกษา แรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาคร,2546.
  • ยงยุทธ แฉล้มวงษ์และคณะ. การศึกษาเชิงนโยบายในการจัดการคนงานต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทย: กรณีศึกา 4 จังหวัด.สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (TDRI)ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.กรุงเทพฯ,2548.
  • สุภางค์ จันวานิช. การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย กรณีศึกษาภาคประมงต่อเนื่อง ประมง เกษตรกรรม และการรับใช้ในบ้าน จังหวัดสมุทรสาคร. ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.องค์กรแรงานระหว่างประเทศ.กรุงเทพฯ,2549.
ที่มาข้อมูล
กรรณิกา ขวัญอารีย์ . (2552). การศึกษาข้อมูลพื้นฐานของเด็กต่างชาติและครอบครัวใน 3 พื้นที่. [Online]. Available :http://swhcu.net/km/mk-articles/sw-km/96-knk.html.   มหาวิทยาลัยหัวเฉียว : คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม. [2553 พฤศจิกายน 19 ].

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น