ผลดีของการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในกระบวนการเรียนรู้และการจัดการ ความรู้ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของวิสาหกิจชุมชน : ศึกษากรณีจังหวัดราชบุรี

ชื่องานวิจัย : ผลดีของการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในกระบวนการเรียนรู้และการจัดการความรู้ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของวิสาหกิจชุมชน : ศึกษากรณีจังหวัดราชบุรี


Good Effects from Application of Sufficiency Economic Philosophy in the Learning Process and Knowledge Management for Sustainable Development of Community Enterprise : Case Study of Ratchaburi



ชื่อผู้วิจัย
  1. ผศ.ดร.นรินทร์ สังข์รักษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โทร 034-255254
  2. ดร. ธีรศักดิ์ อุ่นอารมย์เลิศ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โทร 034-255254
ได้รับเงินอุดหนุนการวิจัย ประจำปี 2551 

********************

บทสรุปการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ1) ศึกษาผลดีของการประยุกต์ใช้แนวทางการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง ของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน 2) ศึกษากระบวนการเรียนรู้ และการจัดการความรู้ในการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง ของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน 3) เปรียบเทียบระดับความเป็นไปได้ของการประยุกต์ใช้แนวทางการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง ของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน และ4) ศึกษากรณีศึกษาเฉพาะรายของวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการประยุกต์ใช้แนวทางการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง การวิจัยเรื่องนี้ใช้วิธีการวิจัยแบบผสม (mixed methodology) ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ดำเนินการวิจัยเป็น 2 ระยะ เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม จำนวน 500 ชุดแบบสัมภาษณ์ระดับลึก จำนวน 25 คน การสนทนากลุ่ม 30 คน และการศึกษาเฉพาะกรณีวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จ 5 แห่ง 

ผลการวิจัย พบว่า ก่อนนำแนวทางการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ประโยชน์ที่ได้รับจะอยู่ในระดับปานกลาง ในด้าน 1) ความซื่อตรงในการประกอบการ 2) การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมในการประกอบการ 3) การรู้จักแบ่งปันและไม่เห็นแก่ตัว 4) การก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีร่วมกัน 5) การพึ่งพาตนเองได้ทางจิตใจ ภายหลังการนำแนวทางการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เห็นว่าประโยชน์ที่ได้รับเพิ่มมากขึ้นอยู่ในระดับมาก ในด้าน 1) ความซื่อตรงในการประกอบการ 2) การมีชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข 3) การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมในการประกอบการ 4) การพึ่งพาตนเองได้ทางสังคม 5) การรู้จักแบ่งปันและไม่เห็นแก่ตัว ชุมชนมีความ เข็มแข็ง มีเศรษฐกิจและสังคมดี 

การเปรียบเทียบความแตกต่างของประโยชน์ที่ได้รับทั้งก่อนและหลังการการนำแนวทางการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในวิสาหกิจชุมชน คือ 1) การมีชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข 2) การดำเนินชีวิตแบบทางสายกลาง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกันที่ดี 3) การใช้กิจกรรมของชุมชนเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และการจัดการความรู้ 4) การส่งเสริมการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชน 5) การสร้างเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล 

ผลดีที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้/การจัดการความรู้และลักษณะการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงของวิสาหกิจชุมชนนั้นอยู่ในระดับมาก ในด้าน 1) ความภาคภูมิใจในตนเองในการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง 2) การตระหนักในคุณค่าของการช่วยเหลือตนเองในการอยู่อย่างเศรษฐกิจพอเพียง 3) ความเครียดที่เกิดจากการประกอบอาชีพ ส่วนผลที่เกิดจากการเรียนรู้/การจัดการความรู้ ได้รับการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นผลดีที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้/การจัดการความรู้และลักษณะการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงมากที่สุด ในด้าน 1) การได้รับการเรียนรู้ตลอดชีวิต 2) การมีหนี้สินน้อยไม่ก่อให้เกิดปัญหาครอบครัว 3) การมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตดี ยึดมั่นในคุณธรรมประเพณีที่ดีงาม และการมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี ผลที่ได้จากการเรียนรู้และการจัดการความรู้ในด้านของการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง การแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้ ส่วนใหญ่ได้รับความรู้มาจากภายนอกท้องถิ่นมากที่สุด ร้อยละ 73.0 โดยแหล่งของความรู้ที่ได้รับนั้นมาจากสื่อบุคคลมากที่สุด ร้อยละ 49.8 รองลงมาคือ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ร้อยละ 40.0 ส่วนผลที่เกิดจากการใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับแนวเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินกิจการวิสาหกิจชุมชนนั้น กลุ่มตัวอย่างได้รับในระดับมาก ร้อยละ 40.8 

การปฏิบัติที่ดี 1) การซื่อสัตย์ต่อลูกค้าและผู้บริโภค 2) การผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อการจำหน่ายไม่เหลือมากเกินไป 3) การช่วยเหลือตนเองขยายฐานให้เกิดการรวมกลุ่ม 4) การสร้างเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้ 5) การสร้างพันธมิตรร่วมกัน 6) การกระจายความเสี่ยง 7) ศูนย์การเรียนรู้ สู่การพัฒนาอาชีพ 8) การอุทิศตนเพื่อสังคมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องของการแบ่งปัน การเปรียบเทียบสมรรถนะ มีการผสมผสานคุณธรรมมาใช้ในการประกอบการ/บริการอย่างเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และมีการนำความรู้ในท้องถิ่นมาผสมผสานความรู้ใหม่อย่างเหมาะสม รูปแบบของการเรียนรู้ มี 3 รูปแบบคือ 1) การเรียนรู้จากวงใน 2) การเรียนรู้จากกลุ่ม และ3) การเรียนรู้จากองค์กร/สถาบัน การจัดการความรู้จากปรากฏการณ์จากพื้นที่ การจัดการความสัมพันธ์และการจัดการความรู้ของวิสาหกิจชุมชน การปฏิบัติร่วมกันของกลุ่มสมาชิกและพฤติกรรมการเห็นประโยชน์มากขึ้น ผลลัพธ์ที่ออกมาแม้ไม่ได้กำไรมากที่สุด หรือเน้นกำไรระยะสั้น แต่มีความสุข ความพอใจ กับสิ่งที่เกิดจากความพอเพียงสามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ ลดปัญหาหนี้สิน รายรับรายจ่ายได้มากขึ้น การสร้างศรัทธาของผู้นำสรุปบทเรียนได้ คิด วิเคราะห์ ปรับปรุงแก้ไขให้องค์กร/ กลุ่มมีความเข้มแข็ง สมาชิกมีส่วนร่วม มีกองทุน เงินทุนทำงานได้ และเรียนรู้เรื่องวิสาหกิจชุมชนได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน จนส่งผลถึงครอบครัวเป็นสุข ชุมชนเป็นสุขขึ้น เพราะกระบวนการเรียนรู้สอดคล้องกับวิธีชุมชน และตรงตามความต้องการ ทั้งยังเกิดผลทั้งนามธรรมและรูปธรรมที่จับต้องได้จริง 

ข้อค้นพบ การดำเนินวิสาหกิจชุมชนต้องมีการเรียนรู้และเชี่ยวชาญเฉพาะในสาขาที่ทำ การจัดการแบบค่อยเป็นค่อยไป บนพื้นฐานของความไม่เสี่ยง เน้นความซื่อสัตย์และการประหยัดเป็นสำคัญ การสร้างความสุขร่วมกัน การอุทิศตนให้แก่สังคม รวมถึงเกิดประโยชน์หรือผลดีที่ได้รับ จากการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในวิสาหกิจชุมชน 21 ประการ และการเรียนรู้ 15 ประการ ข้อเสนอแนะ รัฐควรสอดแทรกเศรษฐกิจพอเพียงในการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงมหาวิทยาลัย การทำเป็นตัวอย่างที่ดี การสร้างรากฐานความสัมพันธ์ครอบครัวที่เข้มแข็ง และการปฏิบัติของวิสาหกิจชุมชนบนพื้นฐานของหลักศาสนธรรม มีความซื่อสัตย์และคุณธรรมเป็นที่ตั้ง ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม.
อ่านต่อ >>

ถอดบทเรียนกระบวนการเรียนรู้บูรณาการกิจกรรมทางเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้าของวิสาหกิจชุมชน เพื่อสังคมอยู่เย็นเป็นสุขในจังหวัดราชบุรี

ชื่อโครงการ : ถอดบทเรียนกระบวนการเรียนรู้บูรณาการกิจกรรมทางเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้าของวิสาหกิจชุมชน เพื่อสังคมอยู่เย็นเป็นสุขในจังหวัดราชบุรี

A Lesson Learnt from Progressive Sufficiency Economic Activities on Integrated Learning Processes of Community Enterprises for Green and Happiness Society in Ratchaburi Province

ชื่อผู้วิจัย  
ผศ.ดร.นรินทร์ สังข์รักษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โทร 034-255254
ดร. ธีรศักดิ์ อุ่นอารมย์เลิศ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โทร 034-255254

ได้รับเงินอุดหนุนการวิจัย ประจำปี 2552

ระยะเวลาทำวิจัย  12 เดือน ตั้งแต่ 19 มิถุนายน 2552 -21 มิถุนายน 2553

******************************

บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ
  1. ถอดบทเรียน การพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน 
  2. วิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของวิสาหกิจชุมชน
  3. ศึกษาความรับผิดชอบต่อสังคมหรือวิสาหกิจบริบาล (CSR) ของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน
  4. ศึกษาการปฏิบัติที่เหมาะสมในการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้ากับเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน 
  5. ศึกษาความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในวิสาหกิจชุมชน 
การวิจัยเรื่องนี้ใช้วิธีการวิจัยแบบผสม ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้การสุ่มตัวอย่าง แบบเป็นระบบ ได้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน 5 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรกรรม กลุ่มพาณิชยกรรม กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มบริการ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น จำนวน 422 คนและการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การเลือกผู้ให้ข้อมูลแบบเจาะจง จำนวน 53 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม แนวทางการสัมภาษณ์ระดับลึก และแนวทางการสนทนากลุ่ม การวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมสถิติคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป และการวิเคราะห์เชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา


ผลการวิจัย พบว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น ร้อยละ 63.30 ดำเนินการ ระหว่าง ปี 2541-2550 ร้อยละ 61.80 มีขนาดของสินทรัพย์ ต่ำกว่า 3 แสนบาท ร้อยละ 55.00 ได้รับความรู้มาจากภายนอกท้องถิ่นมากที่สุด ร้อยละ 37.40 รองลงมาแสวงหาความรู้จากภายในและภายนอกท้องถิ่น ร้อยละ 35.50 แหล่งของความรู้ที่ได้รับมาจากการใช้หลายสื่อ ร้อยละ 55.70 มีการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยละ 98.80 องค์ความรู้ในการนำมาประยุกต์ใช้ในระดับมาก ร้อยละ 43.60 มีการใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินงาน ในระดับมาก ร้อยละ 40.80 ผลที่เกิดจากการใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินกิจการวิสาหกิจชุมชนในระดับมาก ร้อยละ 48.10 และบทเรียนที่ได้จากการใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินงาน ในระดับมาก ร้อยละ 48.10 พฤติกรรมการปฏิบัติในวิสาหกิจชุมชนที่ส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับมาก มีกระบวนการเรียนรู้จากกลุ่ม/เครือข่าย จากการลงมือปฏิบัติจริง จากการแก้ปัญหาในชีวิตจริง การขับเคลื่อนการเรียนรู้ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ การลดรายจ่าย การเพิ่มรายได้ และการประหยัด บทเรียนที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้กิจกรรมทางเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้าในระดับมาก มีการสร้างและใช้ความรู้ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้าของวิสาหกิจชุมชน 3 ห่วง 2 เงื่อนไข มีการออม การลดหนี้ และการลดรายจ่าย และมีศูนย์การเรียนรู้เป็นแหล่งให้ความรู้ 


การปฏิบัติที่ดี/เหมาะสมที่ถือเป็นผลสำเร็จในการประกอบการวิสาหกิจชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้าในระดับมาก มีวิธีการคิด กระบวนทัศน์ใหม่ มีการตั้งเป้าหมาย เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ การปฏิบัติตามแนวทางวิถีแห่งความพอเพียง ผลของการปฏิบัติที่ดีของวิสาหกิจชุมชน คือ สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และมีความเข้มแข็งของกลุ่ม/เครือข่าย บทเรียนที่ได้รับจากการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้ามาใช้ในวิสาหกิจชุมชนในระดับมาก มีบทเรียนจากในอดีต และบทเรียนในปัจจุบัน ทั้งระดับบุคคล/ครอบครัว ชุมชน และสังคม ความรับผิดชอบต่อสังคมจากการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้ามาใช้ในวิสาหกิจชุมชนในระดับมาก มีความรับผิดชอบต่อผู้ร่วมงาน (แรงงาน) ต่อกลุ่ม/เครือข่าย ต่อลูกค้า ต่อชุมชน ต่อสังคม และต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ มีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันจากการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้ามาใช้ในวิสาหกิจชุมชนในระดับมาก มีความอยู่เย็นเป็นสุข จากระดับบุคคลที่มีความสุข ความภาคภูมิใจ มีชีวิตที่มีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ความสุขจากครอบครัวอบอุ่น ความสุขจากชุมชนเข้มแข็ง ข้อค้นพบ การดำเนินวิสาหกิจชุมชนต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และรู้ลึกในสาขาที่ทำ ต้อง “รู้ สู้ ระวัง” และ“ 4 ม.” ได้แก่ 1) ไม่เสี่ยงมาก 2) ไม่ดิ้นรนมาก 3) ไม่มีหนี้สิน และ 4) มีความสุข มีการจัดการแบบค่อยเป็นค่อยไป บนพื้นฐานของบทเรียนที่ผ่านมา มีการปฏิบัติที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม เน้นความซื่อสัตย์ ความสามัคคีของหมู่คณะและการออมเป็นสำคัญ

*************************
อ่านต่อ >>

การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายอย่างยั่งยืนในจังหวัดราชบุรี

ชื่อโครงการ : การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายอย่างยั่งยืนในจังหวัดราชบุรี 

Research and Development for Changing in Cultural Tourism toward Creative Economy through Participation Process of Sustainable Network Alliances in Ratchaburi Province

ชื่อผู้วิจัย 
  1. ผศ.ดร.นรินทร์ สังข์รักษา  คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โทร 034-255254 
  2. ดร. สมชาย ลักขณานุรักษ์  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม 
ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัย ประจำปี 2554 

ระยะเวลาการทำวิจัย  12 เดือน ตั้งแต่ 6 กรกฎาคม 2554 -5 กรกฎาคม 2555 

****************************************


บทคัดย่อ 
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 
  1. ศึกษาการให้คุณค่าของศิลปวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์
  2. พัฒนารูปแบบการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต้นแบบ 
  3. ศึกษาการเทียบเคียงชุมชนที่จัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว
  4. ศึกษาแนวทางการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมแบบภาคีเครือข่ายอย่างยั่งยืน 
  5. ศึกษาการกำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดราชบุรี 
การวิจัยเรื่องนี้ใช้วิธีการวิจัยและพัฒนา ร่วมกับการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ดำเนินการวิจัย 4 ขั้นตอน 
  • ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน 
  • ขั้นตอนที่ 2 ออกแบบและพัฒนาเครื่องมือ 
  • ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้ 
  • ขั้นตอนที่ 4 การประเมินและปรับปรุง เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม แนวทางการสัมภาษณ์ระดับลึก และแนวทางการสนทนากลุ่ม การวิเคราะห์เชิงปริมาณด้วยโปรแกรมสถิติคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป และการวิเคราะห์เชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา 
ผลการวิจัย พบว่า 
  1. การให้คุณค่าของศิลปวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของนักท่องเที่ยวและผู้เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอยู่ในระดับมาก (=4.08 ,=4.16) ตามลำดับ
  2. การพัฒนารูปแบบการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต้นแบบ ได้รูปแบบมีชื่อเรียกว่า “RATCHABURI  Model” ได้แก่
    1. R = Research (การวิจัยการท่องเที่ยว) 
    2. A= Action Learning (การเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้) 
    3. T=Technology (การใช้เทคโนโลยี) 
    4. C= Community of Practice (ชุมชนนักปฏิบัติ) 
    5. H= Horizontal (องค์กรแนวราบและเครือข่าย) 
    6. A= Awareness (ความตระหนักรู้) 
    7. B=Best Practice (การปฏิบัติที่ดีตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง) 
    8. U=Universal (การท่องเที่ยวสู่สากล) 
    9. R=Response (ความรับผิดชอบต่อชุมชน/สังคม) 
    10. I=Identity (การสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่น) 
  3. ผลการเทียบเคียงปัจจัยแห่งความสำเร็จ ได้แก่ “บวร”บ้าน วัดโรงเรียนในการมีส่วนร่วม มีผู้นำเข้มแข็ง สมาชิกร่วมมือ โครงสร้างองค์กร เทคโนโลยี ความรู้ ทักษะ/ความสามารถ การจัดการ วัฒนธรรมองค์กร จิตอุทิศ และทุนชุมชน ส่วนปัจจัยความล้มเหลว ได้แก่ ความอิจฉา ความขัดแย้งกันของสมาชิกและชุมชน การขาดความร่วมมือ และผลประโยชน์
  4. แนวทางการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการตั้งอยู่บนพื้นฐานเดิมของชุมชน ยึดหลักภูมิสังคม ผลประโยชน์ของชุมชน และความคุ้มค่ามากกว่าความคุ้มทุน 
  5. เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดราชบุรี ประกอบด้วย 4 รูปแบบคือ เส้นทางครึ่งวัน หนึ่งวันแบบไปเช้าเย็นกลับ (นิยมมากที่สุด) และแบบค้างคืน และแบบสองวันสองคืน กำหนดเส้นทางอู่อารยธรรมและไหว้พระ วิถีชีวิตชาติพันธุ์ตัวตนคนราชบุรี เริ่มจากวัดคงคารามจนสุดท้ายเมืองโบราณและจิปาถะภัณฑ์คูบัว
อ่านต่อ >>